บสย.พลิกโฉม Rebranding “BEYOND BORDERS : ก้าวข้ามทุกขีดจำกัด”
สู่ทศวรรษใหม่ Digital Transformation เชื่อมโลกการเงิน – ค้ำประกันสินเชื่อ
เร่งสปีดช่วย SMEs เข้าถึงแหล่งทุน
บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม ก้าวสู่ทศวรรษใหม่ พลิกโฉม Digital Transformation ประกาศRebranding สร้างอัตลักษณ์ใหม่ “บสย. BEYOND BORDERS ก้าวข้ามทุกขีดจำกัด” ผ่านแนวคิด “Fast & First รวดเร็ว รอบคอบ ที่หนึ่งในใจ SMEs” เชื่อมโลกการเงิน – ค้ำประกันสินเชื่อ ยกระดับการเข้าถึงแหล่งทุนยุคดิจิทัล สู่ความยั่งยืน
บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) รัฐวิสาหกิจ ในสังกัดกระทรวงการคลัง จัดงาน “บสย. BEYOND BORDERS ก้าวข้ามทุกขีดจำกัด” สู่ภาพลักษณ์ใหม่ บสย. โดยได้รับเกียรติจาก นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานในพิธีเปิด นายพิพัฒน์ชัย ภัครัชตานนท์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง รับมอบหมายจาก นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นผู้แทน ร่วมในพิธีเปิดพร้อมขึ้นกล่าว “แนวทางและนโยบายการกำกับ บสย. ในยุคดิจิทัล” โดยมี นายธีรัชย์ อัตนวานิช ประธานกรรมการบสย. นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บสย. ให้การต้อนรับ พร้อมด้วย นายสนั่น อังอุบลกุลประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย และประธานสมาคมธนาคารไทย ผู้แทนสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ ผู้บริหารระดับสูงและผู้แทนองค์กรจากหน่วยงานภาครัฐภาคธุรกิจ สถาบันการเงิน ร่วมเป็นเกียรติในงาน ณ โรงแรมสยามเคมปินสกี้ กรุงเทพฯ
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประธานในพิธีเปิดงาน กล่าวว่า บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม หรือ บสย. จัดตั้งขึ้น ภายใต้แนวคิด การเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ของ บสย. ทั้งรูปแบบธุรกิจและโครงสร้างองค์กร อย่างมีระบบ รวมถึงเพื่อให้ บสย. มีบทบาทที่ชัดเจนต่อภาคธุรกิจ และเข้าถึงง่ายมากขึ้น ภายใต้ยุคสมัยที่การดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือผู้ประกอบการ SMEs ที่เปลี่ยนแปลงไปในยุค New Normal รวมถึงกระแส Digital Disruption ที่เข้ามามีบทบาทและผลกระทบมากขึ้น
ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส 2019 หรือ COVID -19 ได้ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในทุกภาคส่วน ทั้งในด้านการบริโภคภายในประเทศและภาคการต่างประเทศที่ชะลอตัวลง กระทรวงการคลังได้ตระหนักถึงปัญหาต่างๆ และได้ออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เศรษฐกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัว สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งถือว่าเป็น Engine of economic growth ที่สำคัญของประเทศไทยโดยมีมูลค่ารวมประมาณ 34% ของ GDP นั้น กระทรวงการคลังก็ได้ให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือและสนับสนุนมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs มีเงินทุนหมุนเวียนในการประคับประคองธุรกิจ รักษาการจ้างงาน รวมถึงเป็นเงินลงทุน เพื่อฟื้นฟู และดำเนินธุรกิจต่อไปได้
โดยรัฐบาลได้ให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ผ่านมาตรการด้านการเงินต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการด้านสินเชื่อต่ำ เพื่อลดต้นทุนในการเข้าถึงสินเชื่อของผู้ประกอบการ SMEs มาตรการค้ำประกันสินเชื่อ เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงสินเชื่อในระบบสถาบันการเงินได้อย่างทั่วถึง และมาตรการพักชำระหนี้ เพื่อบรรเทาภาระของผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศให้กลับมาอยู่ในช่วงก่อนเกิด COVID-19 และขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน บสย.จะต้องเข้ามามีบทบาทสำคัญ ในการพัฒนาตลาดทุนของประเทศไทย เพื่อเชื่อมต่อผู้ประกอบการ SMEs และแหล่งออมได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ทั้งด้านความรู้การเงินและด้านเทคโนโลยี และการดำเนินการให้สอดคล้องกับทิศทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศที่มุ่งเน้น Bio-Circular-Green Economy หรือ BCG Model
รัฐบาลโดยกระทรวงการคลัง ได้มีการติดตามผลการดำเนินงานของมาตรการด้านการเงินต่างๆ อย่างต่อเนื่อง รวมถึงพิจารณาข้อจำกัด ปัญหาอุปสรรคของการดำเนินมาตรการ รวมไปถึงผลกระทบต่างๆที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเพื่อปรับปรุงและออกมาตรการที่เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้สามารถดูแลผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบอย่างทันท่วงที
“ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การ Rebranding องค์กรของ บสย. ในครั้งนี้ จะเป็นการยกระดับพัฒนาองค์กร เพื่อปรับภาพลักษณ์ของ บสย. ให้เปลี่ยนแปลงไปสู่ความก้าวหน้า อย่างมีระบบ มีบทบาทที่ชัดเจนขึ้น และเข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น ส่งเสริมภารกิจหลักของ บสย. ในการสร้างโอกาสการเข้าถึงแหล่งทุนให้ผู้ประกอบการ SMEs ควบคู่ไปกับการเป็นองค์กรที่พร้อมจะให้บริการความรู้ทางการเงินและการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจให้กับผู้ประกอบการ SMEs เพื่อเป็นฟันเฟืองสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่อไป”
นายพิพัฒน์ชัย ภัครัชตานนท์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวมอบ “แนวทางและนโยบายการกำกับ บสย. ในยุคดิจิทัล” ว่า ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา บสย. เป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเป็นเครื่องมือรัฐที่ช่วยลดช่องว่าง การเข้าถึงแหล่งเงินทุน ของผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งมีมากกว่า 3.2 ล้านราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่ม Restart และ Start up ที่กำลังฟื้นตัวและเริ่มต้นกิจการ ต้องการสินเชื่อในระบบ บทบาทของบสย. จึงมีความสำคัญต่อการสนับสนุนการเข้าถึงสินเชื่อ ทั้งนี้ยังมอบหมายให้ บสย.เพิ่มบทบาทให้คำปรึกษาทางการเงิน SMEs และสนับสนุนยกระดับเกษตรกรไทยสู่เกษตรอุตสาหกรรมมูลค่าสูง โดยใช้โมเดลเศรษฐกิจ บีซีจีไบโอ อีโคโนมี่ ขับเคลื่อนธุรกิจ ซึ่งทั้ง 2 บทบาทมีความสำคัญ ต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอย่างมาก เห็นได้จากผลดำเนินงาน บสย. ในปี 2564 ให้การค้ำประกันสินเชื่อกว่า 245,000 ล้านบาท ช่วยผู้ประกอบการ SMEs ได้รับสินเชื่อกว่า 220,000 ราย โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565 มียอดค้ำประกันสินเชื่อ 92,000 ล้านบาท ได้รับสินเชื่อกว่า 68,000 ราย
“ภาพลักษณ์ใหม่ บสย. BEYOND BORDERS ก้าวข้ามทุกขีดจำกัด ก้าวสู่ทศวรรษใหม่ ที่พร้อมเดินหน้าภารกิจ การช่วยผู้ประกอบการ SMEs ให้เข้าถึงแหล่งทุนได้มากขึ้น ที่ดีกว่าเดิมด้วยการนำนวัตกรรม Digital Technology เป็นตัวขับเคลื่อน การค้ำประกันสินเชื่อทุกแพลตฟอร์ม ตามนโยบายของรัฐบาลก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลกดิจิทัลและโลกการเงิน อย่างยั่งยืน”
นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) กล่าวว่าบสย. พร้อมขับเคลื่อนองค์กร ในทศวรรษใหม่ ด้วย Digital Technology ในฐานะสถาบันการเงินของรัฐ ในสังกัดกระทรวงการคลัง ซึ่งตลอดระยะเวลา 30 ปี ได้ช่วยผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงสินเชื่อในระบบสถาบันการเงิน มียอดค้ำประกันสินเชื่อสะสมมากกว่า 1.3 ล้านล้านบาท และช่วยผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงสินเชื่อมากกว่า 740,000 รายรักษาการจ้างงานมากกว่า 11 ล้านอัตรา สร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากกว่า 5.7 ล้านล้านบาท โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2564 บสย. ได้ช่วยค้ำประกันสินเชื่อ มากกว่า 220,000 ราย ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบาง Micro ประมาณ 73% แต่ยังมีผู้ประกอบการ SMEs อีกมาก และกลุ่มเปราะบาง ที่ยังเข้าไม่ถึงแหล่งทุนในระบบสถาบันการเงิน อีกกว่า 3 ล้านราย
“บสย. BEYOND BORDERS ก้าวข้ามทุกขีดจำกัด” คือหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์ชาติ ลดความเหลื่อมล้ำ ตามแนวทางการพัฒนาความยั่งยืน บสย. ครอบคลุมมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ยกระดับการบริการ “ค้ำประกันสินเชื่อ” ด้วยนวัตกรรม Digital Technology เชื่อมโยงและพร้อมช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ไม่มีที่สิ้นสุด มีความร่วมสมัยในยุคดิจิทัล ภายใต้ 3 วัตถุประสงค์หลัก คือ
1.สร้างภาพจำให้ชัดขึ้นใน 2 บทบาทหลัก คือ
1.1 บทบาทการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs มุ่งสู่ Digital Credit Enhancer ในการให้บริการและการดูแลลูกค้าSMEs รวดเร็ว รอบคอบ ใช้ Digital Technology เป็นเครื่องมือส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการ ลดความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงสินเชื่อ และลดการพึ่งพาสินเชื่อนอกระบบ โดยเฉพาะกลุ่มไมโคร ซึ่งเป็นกลุ่มเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ เข้าถึงสินเชื่อ ด้วยหนังสือค้ำประกันสินเชื่อจาก บสย. ใช้แทนหลักทรัพย์การยื่นกู้กับสถาบันการเงิน ซึ่งช่วยลดต้นทุนด้านเครดิต (Credit Cost)
1.2 บทบาทการเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน F.A. Center (Financial Advisor) ให้ความรู้ทางการเงิน (Financial Literacy)
2.ภาพลักษณ์ใหม่ ตอบโจทย์ผู้ประกอบการ SMEs ที่มีหลาย Generation ได้เข้าใจบทบาท และเข้าถึง บสย. ง่ายขึ้นทั้งกลุ่มนักศึกษาจบใหม่ที่ต้องการเป็นเจ้าของกิจการ หรือ ผู้สูงวัยที่ต้องการเป็นเจ้าของกิจการ ผ่านการเชื่อมโยงในระบบนิเวศน์ Eco-System ที่มีหลากหลายรูปแบบ
3.ตอบโจทย์กระแส Digital Disruptions ก้าวข้ามทุกขีดจำกัด สู่ทศวรรษใหม่ บสย. สร้างวัฒนธรรมองค์กรใหม่จากภายในสู่ภายนอก โดยใช้ Digital เป็นตัวขับเคลื่อน และผลักดัน บสย. เข้าสู่ระบบ Digital Eco-System เชื่อมโยงผู้ประกอบการ SMEs สู่ Platform online ทั้งการบริหารทางการเงิน Digital Lending และ ค้าขายออนไลน์ ผ่าน E-Market Place
อัตลักษณ์ใหม่ บสย. ใช้สัญลักษณ์ Infinity แสดงถึงการช่วยเหลือ SMEs ไม่มีที่สิ้นสุด ตอกย้ำพันธกิจหลักของ บสย. เป็นหลักค้ำประกันครบวงจร โลโก้มีลักษณะเอียงและมีทิศทางพุ่งขึ้นด้านบน สื่อถึงการเติบโตไปข้างหน้า ปรับลุกให้ดูรวดเร็วในยุคดิจิทัล พร้อมหางตัว “ส” ชี้ขึ้น 30 องศา สื่อความหมาย 30 ปี บสย. ด้วยโทนสีน้ำเงิน-ฟ้า สร้างการจดจำ ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลง สู่บริบทใหม่ และระบบนิเวศน์ ดิจิทัล
ภาพลักษณ์ใหม่ บสย. ยังยึดตามแนวทางการพัฒนาความยั่งยืน เพิ่มจำนวนการช่วยเหลือ SMEs ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ เพิ่มเงินทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น และการสนับสนุนการสร้างคุณค่าทางสังคมช่วยผู้ประกอบการ SMEs กลุ่มที่มีโอกาสน้อย เช่น Micro SMEs ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ให้มีโอกาสสร้างงานสร้างอาชีพ และเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ การให้ความรู้ทางการเงิน และการเป็นที่ปรึกษาทางด้านการเงิน