แชร์
111_08796_th

SME D Bank คว้ารางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ปี 64 ประเภท ‘พัฒนาองค์กรดีเด่น’ จากบทบาทธนาคารเพื่อเอสเอ็มอีไทย เติมทุนคู่พัฒนา พาก้าวผ่านโควิด-19

SME D Bank รับมอบรางวัลแห่งความภาคภูมิใจ รัฐวิสาหกิจดีเด่น ประจำปี 2564 ประเภท “พัฒนาองค์กรดีเด่น” จากบทบาทสำคัญของการเป็น“ธนาคารเพื่อเอสเอ็มอีไทย” ยกระดับการทำงาน  สามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการก้าวผ่านสถานการณ์โควิด-19 ผ่านการสนับสนุนด้านการเงินพาเข้าถึงแหล่งทุนกว่า 49,000 ลบ. คู่ด้านพัฒนาศักยภาพกว่า 20,000 ราย

วันที่ 31 มกราคม 2565 ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank เข้ารับรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ประจำปี 2564 ประเภท “รางวัลพัฒนาองค์กรดีเด่น” ภายใต้แนวคิด “ก้าวสู่ยุควิถีใหม่ด้วยพลังรัฐวิสาหกิจไทยอย่างยั่งยืน  Sustainable Moving Towards The Next Normal”  จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) โดยได้รับเกียรติจากนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง  ซึ่งได้รับมอบหมายนายกรัฐมนตรีให้เป็นประธานในพิธี และมอบรางวัล  ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล

นางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank กล่าวว่า การได้รับรางวัลดังกล่าว  ถือเป็นความภาคภูมิใจ และเป็นความสำเร็จอย่างยิ่งที่เกิดจากความมุ่งมั่น ทุ่มเท ของคณะกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกคน ที่ร่วมกัน ยกระดับพัฒนาองค์กร สามารถตอบสนองนโยบายภาครัฐได้เป็นอย่างดี  ในการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยเฉพาะจากสถานการณ์โควิด-19   ซึ่งธนาคารได้ปรับกระบวนการทำงาน นำเทคโนโลยีมาใช้งานได้เหมาะสม  แม้จะอยู่ในสถานการณ์โควิด-19 ที่มีข้อจำกัดมากมายในการทำงาน แต่ยังสามารถให้บริการผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ทั้ง “ด้านการเงิน” และ “การพัฒนา” ได้อย่างรวดเร็ว และทั่วถึง  ช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เข้าถึงแหล่งทุน สามารถรักษาการจ้างงาน และปรับตัวเดินหน้าธุรกิจต่อไปได้    ซึ่งสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของการเป็น “ธนาคารเพื่อเอสเอ็มอีไทย” อย่างแท้จริง    

ทั้งนี้ SME D Bank   ได้รับการประเมินคุณภาพรัฐวิสาหกิจ (State Enterprise Assessment Model : SE-AM)  ในด้านต่าง ๆ  เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน   ส่งผลให้การดำเนินงานเพิ่มประสิทธิภาพ ทั้ง “ด้านการเงิน” ที่มียอดเบิกจ่ายสินเชื่อขยายตัวต่อเนื่อง โดยปี 2562  มียอดเบิกจ่ายสินเชื่อรวม อยู่ที่กว่า 38,000 ล้านบาท  ต่อมาปี 2563 มียอดเบิกจ่ายสินเชื่อรวม เพิ่มเป็นกว่า 42,000 ล้านบาท และในปี 2564 ที่ผ่านมา  สามารถผลักดันยอดเบิกจ่ายสินเชื่ออยู่ที่กว่า 49,000 ล้านบาท  โดยวงเงินดังกล่าว เมื่อลงไปถึงผู้ประกอบการ จะช่วยสร้างเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 200,000 ล้านบาท รักษาการจ้างงานได้กว่า 120,000 ราย  นอกจากนั้น ในปี 2564 ธนาคาร ได้ช่วยเหลือผู้ประกอบการ ผ่านการพาเข้ามาตรการพักชำระหนี้ และปรับโครงสร้างหนี้อีกกว่า 37,000  ราย  

รวมถึง  สามารถบริหารจัดการควบคุมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2563 สามารถบริหารจัดการระดับ NPL ปรับตัวลดลงจาก 19,000 ล้านบาทในปี 2562 มาอยู่ที่ 15,000 ล้านบาท   และในปี 2564 ที่ผ่านมา ลดลงเหลือ 14,000 ล้านบาท แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นการทำงานขององค์กรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด    

ส่วนการสนับสนุน “ด้านการพัฒนา” ช่วยเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ให้สามารถปรับตัวและก้าวผ่านสถานการณ์โควิด-19   ผ่านการจัดอบรมความรู้หลักสูตรต่างๆ พัฒนาทักษะเดิม (Upskill) เพิ่มเติมทักษะใหม่ (Reskill) และส่งเสริมด้านการตลาด โดยปี 2563 ช่วยเหลือประมาณ 8,000  ราย  ในปี 2564 ที่ผ่านมา  เพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 20,000 ราย 

อีกทั้ง มีการบริหารงานโปร่งใส โดยได้รับการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ จากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ประจำปี 2564  คะแนนร้อยละ 99.49 คะแนน  อยู่ลำดับที่ 3 จากรัฐวิสาหกิจ 51 แห่งที่เข้าร่วมการประเมิน รวมถึง บริษัท ฟิทช์เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศจัดอันดับเครดิต SME D Bank อยู่ที่ “AAA” ถือเป็นอันดับเครดิตสูงสุดภายในประเทศ  ต่อเนื่องเป็นปีที่ 9 (ปี 2556-2564) สะท้อนความมีเสถียรภาพ และความสำคัญเชิงนโยบายของรัฐบาล 

สำหรับ ในปี 2565 SME D Bank  ยังคงมุ่งมั่นเดินหน้าบทบาท “ธนาคารเพื่อเอสเอ็มอีไทย” ตามนโยบายที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาล ตั้งเป้าหมายสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งทุน สูงมากกว่าปี 2564 ที่ผ่านมา  รวมถึง มุ่งสนับสนุนกลุ่มธุรกิจ BCG  (Bio-Circular-Green Economy)  ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อสร้างความยั่งยืนให้แก่ประเทศไทย ทั้งเชิงเศรษฐกิจและสังคม สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ยุทธศาสตร์กระทรวงการคลังและกระทรวงอุตสาหกรรม ที่เป็นหน่วยงานกำกับธนาคาร 

03